ไทย
ไทย
TOP
Feature
สาเหตุการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่น
2018-11-12

สาเหตุการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่น

สาเหตุการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่น อัตราการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ยังถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากอยู่ดี นั่นอาจเป็นเพราะสาเหตุต่างๆ ดังนี้

 

เรื่องโดย : พิชชารัศมิ์ www.marumura.com

 

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่าน เมื่อสัปดาห์ก่อนดิฉันเขียนเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุของการไม่มีความสุขของวัยรุ่นญี่ปุ่น

 

และสัปดาห์นี้ก็มีข่าวดังเกี่ยวกับจำนวนเด็กที่ฆ่าตัวตายในประเทศญี่ปุ่น ว่าในช่วงปีงบประมาณ 2016/2017 จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เด็กญี่ปุ่นที่อยู่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาฆ่าตัวตายมากถึง 250 คน ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 32 ปี

 

สถานศึกษาส่วนใหญ่ระบุว่า ยังมีปมการฆ่าตัวตายอีกกว่า 140 คดี ที่ยังไม่สามารถระบุมูลเหตุจูงใจได้ เพราะเด็กที่ฆ่าตัวตายไม่ได้ทิ้งจดหมาย โน้ต หรืออะไรไว้เลย

 

แต่มีรายงานคาดการณ์ว่าสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาภายในครอบครัว ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง และการถูกกลั่นแกล้งจากสังคมในโรงเรียนและคนรอบข้าง

 

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด

 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2015 ที่รัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขเยียวยาปัญหานี้ โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา สถิติการฆ่าตัวตายทั่วทั้งประเทศอยู่ที่ 21,000 ราย ซึ่งลดลงจากช่วงที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดที่ 34,500 เมื่อปี 2003 เกือบ 33% แต่ก็ยังถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากอยู่ดี นั่นอาจเป็นเพราะสาเหตุต่างๆ ดังนี้

 

การฆ่าตัวตายมีมาในประวัติศาสตร์

การฆ่าตัวตายมีให้เห็นในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เรียกว่า Seppuku (切腹 หรือที่เรียกกันว่า ฮาราคีรี (腹切り) การฆ่าตัวตายของซามูไรในสมัยโบราณอาจทำเพื่อรักษาเกียรติของตัวเองหรือวงศ์ตระกูล หรือฆ่าตัวตายเพื่อรับผิดชอบต่อการกระทำความผิดร้ายแรงของตัวเอง ยังมีการคะมิกะเซะ (神風) ซึ่งก็คือการขับเครื่องบินพลีชีพในสงคราม ซึ่งถือเป็นการกระทำอันทรงเกียรติที่ยอมพลีชีพเพื่อชาติ

 

แต่ไม่ได้มีการกล่าวว่า หากฆ่าตัวตายแล้วจะต้องตกนรกหรือเป็นบาป ทำให้วิญญาณไม่ได้ไปผุดไปเกิดเหมือนอย่างบ้านเรา สำหรับคนญี่ปุ่นการฆ่าตัวตายเหมือนเป็นการจบสิ้นทุกสิ่งมากกว่า

 

คนแก่จำนวนมากที่หมดหนทางหาเลี้ยงชีพ ลูกหลานสมัยใหม่ก็ไม่ดูแล เงินเก็บที่มีก็ไม่เพียงพอต้องอยู่อย่างอัตคัด หรือแม้แต่ชายที่ยังไม่แก่อายุระหว่าง 20-44 ปีก็มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงโดยเหตุผลส่วนใหญ่คือ “รู้สึกสิ้นหวัง” และ “หมดหนทางจะขอความช่วยเหลือใครได้” โดยส่วนใหญ่มาจากปัญหาเรื่องงาน เช่น ตกงาน หรือ ไม่มีงานประจำทำ ทำให้ขาดความมั่นคงในชีวิต จึงเลือกที่จะหนีปัญหาโดยการจบชีวิตตัวเองหรือเพื่อให้ได้เงินประกันเพื่อครอบครัวจะได้อยู่ต่อไปได้

 

ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง

มีคนกล่าวว่าสำหรับชาวญี่ปุ่น “ไม่ค่อยมีโอกาสให้แสดงความโกรธเคืองคับข้องใจ” ออกมาได้ คนจึงไม่ค่อยพูดคุยเกี่ยวกับความกังวลเรื่องรายได้หรือความไม่มั่นคงในชีวิต คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามกรอบประเพณีของสังคมและแสดงออกแบบที่คนอื่นอยากเห็นมากกว่าจะแสดงความรู้สึกที่แท้จริง เมื่อเผชิญปัญหาและอุปสรรค เช่น โดนเพื่อนแกล้ง ตกงาน หรือโดนเจ้านายด่าทอ ฯลฯ หลายๆ คนจึงคิดว่าทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกแย่ๆเหล่านั้นได้ก็คือ การฆ่าตัวตาย ค่ะ

 

หลายๆ คนยังมีอาการ ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) ซึ่งเป็นคำอธิบายถึงพฤติกรรมของคนที่ชอบเก็บตัว พยายามแยกตัวเองออกจากสังคม และไม่ชอบพบปะผู้คน รวมถึงอาจไม่พูดคุยกับผู้อื่นเลยเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่ต้องการแยกตัวเพราะรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ ซึมเศร้า ซึ่งโดยมากไม่ได้บอกคนอื่นว่ามีปัญหาอะไร จนในที่สุดเมื่อรู้สึกแย่มากๆ ก็เลยอยากจะหายไปจากโลกนี้ให้รู้แล้วรู้รอด

 

นักจิตวิทยาชาวญี่ปุ่นสรุปสั้นๆ ว่า

 

“คนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นมีความรู้มากมาย แต่ขาดประสบการณ์ และไม่รู้ว่าจะแสดงออกทางอารมณ์อย่างไร”

 

ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงต้องหาทางแก้ไขต่อไปค่ะ

 

เรื่องโดย : พิชชารัศมิ์ www.marumura.com ติดตามอ่านเรื่องราวการทำธุรกิจด้วยใจรักจนประสบความสำเร็จได้ในหนังสือ “Japan Success ธุรกิจสำเร็จได้ด้วยใจรัก” และ หนังสือจิตวิทยาความรักความสัมพันธ์ “เมื่อจิตวิทยา ทำให้คนรักกัน” สามารถพูดคุยสื่อสารกับพิชชารัศมิ์ได้ที่ FB: Life Inspired by พิชชารัศมิ์

 


หากชอบบทความของเรา สามารถติดตาม Facebook FanPage ของเราได้