2018-03-15
Kato Sangyo บริษัทที่พนักงานกว่าครึ่งอายุมากกว่า 60 ปี
Kato Sangyo … คุณ Kato กล่าวว่า ในการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุ บริษัทจะต้องแน่ใจว่าจะไม่มีอุปสรรคด้านเทคนิคในโรงงาน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือพนักงานทั้งหมดของบริษัทต้องให้ความเคารพและความสำคัญกับพนักงานสูงอายุ โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ
เรื่องโดย : พิชชารัศมิ์ www.marumura.com
เป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการเกิดลดลงเรื่อยๆ แต่ประชากรผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงก็มีมากเหลือเกิน อายุเฉลี่ยของผู้หญิงญี่ปุ่นนั้นมากที่สุดในโลกคือ 86 ปี ส่วนผู้ชายก็ 80 ปีอยู่อันดับ 3 ของโลก สัดส่วนประชากร 33.0% อายุมากกว่า 60 ปี 25.9% อายุ 65 ปีหรือมากกว่า อีก 12.5% อายุ 75 ปีหรือมากกว่า ประเทศญี่ปุ่นจึงถูกเรียกได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ โครงสร้างประชากรเช่นนี้ทำให้ประชากรวัยทำงานต้องรับภาระหนักในการจ่ายภาษีเพื่อเลี้ยงดูคนส่วนมากของประเทศ
สิ่งที่ผู้เกษียณอายุส่วนใหญ่มักจะทำก็คือการพักผ่อนหลังใช้ชีวิตการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งชีวิตด้วยการใช้ชีวิตด้วยการพักผ่อนอยู่บ้านหรือเที่ยวกระหน่ำ แต่พอทำไปได้สักพักก็จะรู้สึกเบื่อเพราะสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการที่แท้จริงคือ ความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เป้าหมายในชีวิต และความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ จะว่ากันไปแล้วคนสูงอายุจำนวนมากเหล่านี้ยังคงมีไฟในการทำงานและสุขภาพก็แข็งแรง จึงมีการคิดว่าแล้วทำไมถึงไม่ให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ทำงานต่อไปล่ะเพื่อเพิ่มประชากรทำงานที่กำลังขาดแคลน และลดภาระของการเลี้ยงดูผู้สูงอายุของสังคม
บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัด Gifu ชื่อว่า Kato Sangyo เริ่มจ้างงานคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยพนักงานที่มีอายุมากที่สุดมีอายุถึง 79 ปี และในปัจจุบันพนักงานเกินครึ่งของบริษัทอายุมากกว่า 60 ปี นิตยสาร Wall Street ได้ยกย่องว่า รูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุของบริษัท Kato Sangyo ประสบความสำเร็จมากที่สุด
Kato Sangyo เริ่มจ้างพนักงานสูงอายุในปี 2001 โดยความคิดริเริ่มของกรรมการผู้จัดการบริษัท คุณ Keishi Kato เขาเล่าให้ฟังว่านโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุเริ่มมาจาก ในช่วงที่บริษัทโดนบีบจากบริษัทลูกค้ายักษ์ใหญ่ให้ลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ในขณะเดียวกันพนักงานต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจะรักษาผลกำไรของบริษัท ทางเลือกที่บริษัททำได้ในตอนนั้นก็คือการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มยอดขาย ซึ่งจะเป็นการยากหากต้องทำสองอย่างพร้อมๆกัน หากเป็นบริษัทอื่นๆคงจะแก้ปัญหาโดยการไล่พนักงานออกแต่ Kato Sangyo ไม่ได้มีนโยบายเช่นนั้น บรรดาผู้บริหารจึงต้องพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหากันอย่างหนักจนได้ข้อสรุป ก็คือ บริษัทจะขยายเวลาการทำงานจากวันจันทร์ถึงศุกร์เป็นทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ด้วย คือต้องเป็นโรงงานที่เปิดดำเนินการ 365 วัน
ตอนนั้นบริษัทคิดแค่ว่าการผลิตเจ็ดวันจะทำให้ได้กำไรเพิ่ม แต่ปัญหาต่อไปที่ต้องคิดก็คือ “แล้วจะหาใครมาทำงานวันหยุดล่ะ” และก็มาคิดได้ว่า ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งเคยศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเมือง Nakatsugawa-shi ที่บริษัทตั้งอยู่ ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุจำนวนมากยังอยากจะทำงานถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมาก และเราก็พบว่านี่คือ “ทางแก้ปัญหาของเรา” เราจึงเริ่มจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้มาทำงานวันเสาร์และอาทิตย์
คุณ Keishi Kato ย้อนเล่าถึงตอนนั้น ว่า พนักงานในบริษัทได้ช่วยกันออกแบบโบรชัวร์โดยใช้รูปคุณยายแก่ๆยืนยิ้มอยู่กลางทุ่งนา และมีประโยคด้านล่างเขียนว่า “วันเสาร์ อาทิตย์ คือวันทำงานของเรา” และยังให้รายละเอียดว่า เราต้องการคนที่กระตือรือร้นในการทำงาน แต่ก็มีข้อจำกัดทางอายุเพราะเราต้องการแค่ “คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป”
โทรศัพท์ดังขึ้นตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งของวันแรกที่โบรชัวร์ถูกประกาศออกไปทางหนังสือพิมพ์และดังขึ้นตลอดทั้งวัน บริษัทได้ผู้สมัครกว่าร้อยคนในเวลาเพียงไม่กี่วัน ทั้งๆที่ต้องการรับสมัครเพียง 10 คนเท่านั้น บริษัทต้องใช้เวลาหลายวันในการสัมภาษณ์ และในที่สุดก็รับสมัครผู้สูงอายุทั้งหมด 15 คน ซึ่งอายุระหว่าง 60-79 ปี โดยคัดเลือกจาก ความสามารถในการปรับตัวเพราะพื้นฐานการทำงานของผู้สมัครแต่ละคนแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็น ช่างไม้ คนขายปลา ช่างซ่อม ทำงานตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ แต่น้อยคนที่จะมีประสบการณ์การทำงานโรงงาน ผู้อาวุโสที่สุดอายุ 79 ปี เธอขี่มอเตอร์ไซค์มาสมัครงานด้วยบุคลิกกระฉับกระเฉง งานที่เธอได้รับมอบหมายก็คือการดูแลโรงอาหารในวันเสาร์และอาทิตย์ โดยเตรียมอาหารกลางวันและอาหารว่างให้กับผู้อาวุโสท่านอื่นๆ บรรยากาศในห้องอาหารในวันหยุดจึงเต็มไปด้วยความอบอุ่นเมื่อพนักงานอาวุโสรุ่นพี่คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน และให้คำปรึกษาแก่ผู้อาวุโสรุ่นน้อง
คุณ Kato กล่าวว่า ในการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุ บริษัทจะต้องแน่ใจว่าจะไม่มีอุปสรรคด้านเทคนิคในโรงงาน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือพนักงานทั้งหมดของบริษัทต้องให้ความเคารพและความสำคัญกับพนักงานสูงอายุ โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ
ประการแรก พนักงานต้องไม่คิดว่าผู้สูงอายุเป็นเพียงแรงงานราคาถูก
ประการที่สอง บริษัทต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงานของผู้สูงอายุ
ประการที่สาม การทำงานในบริษัทจะต้องสร้างความสุขและความรู้สึกมีคุณค่าให้กับผู้สูงอายุทุกท่าน
คุณ Kato ยกตัวอย่างพนักงานหญิงสูงอายุคนหนึ่งซึ่งเคยสมัครงานในซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ในเมือง และได้รับมอบหมายให้ทำความสะอาดห้องน้ำ เธอเล่าว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้นก็คือ เพื่อนๆ หรือเพื่อนบ้านของเธอเอง ดังนั้นเธอจึงรู้สึกแย่ในทุกๆ วันที่ไปทำงาน Kato ย้ำว่า “ทำไมเราต้องมอบหมายแต่งานง่ายๆ ที่ไม่มีความหมายให้กับผู้สูงอายุด้วยเล่า ทำไมเราไม่คิดกันบ้างว่าผู้อาวุโสเหล่านี้สามารถทำงานได้หลากหลายประเภท ผมคิดว่าสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างให้ผู้อาวุโสรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองใน Kato Sangyo เป็นปัจจัยสำคัญที่การจ้างงานผู้สูงอายุประสบความสำเร็จ”
ในประเทศญี่ปุ่นมีวันหยุดรวมทั้งหมด 110 วันในหนึ่งปี หมายถึงโอกาสทางการผลิตที่ไม่มาก แต่หลังจากการจ้างงานผู้สูงอายุ การผลิตของ Kato Sangyo เพิ่มขึ้นถึง 30% ยอดขายก็เพิ่มขึ้น 30% เช่นกัน ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุหลายท่านยังทำงานวันธรรมดาด้วย นอกจากนี้ หลังจากที่บริษัทเริ่มจ้างผู้สูงอายุในปี 2001 ความตระหนักรู้ในการ “ทำเพื่อสังคมของบริษัท” ก็เป็นที่รับรู้ในกลุ่มพนักงานวัยหนุ่มสาว ทำให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่ ในขณะเดียวกันชุมชนก็ชื่นชมกับการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีส่วนช่วยเศรษฐกิจภูมิภาค หลายๆคนที่สนใจการจ้างงานผู้สูงอายุยังหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วยไปในตัวทำให้บริษัทได้ออร์เดอร์ให้ผลิตมากกว่า 100 ชิ้นส่วน เพื่อประกอบถังน้ำมันเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง จึงกล่าวได้ว่า การจ้างงานผู้สูงอายุทำให้บริษัทดูมีคุณค่าและมีจิตวิญญาณ การจ้างงานผู้สูงอายุนั้นส่งผลดีให้กับบริษัทมากกว่าที่คิดไว้ตอนแรก ยอดขายตลอดปีเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านเยน จาก 1.5 พันล้านเยน
คุณ Kato เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกมี “จิตใจที่อยากช่วยเหลือคนอื่น” หรือ “อยากทำตัวเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น” แต่ ระบบทุนนิยมดูเหมือนจะเพิ่ม “การเห็นแก่ตัวเอง” มากกว่า “การเห็นแก่ผู้อื่น” ดังนั้นเราควรจะปลุกจิตสำนึกแห่งการทำเพื่อผู้อื่นบ้าง ซึ่งองค์กรอื่นๆสามารถใช้รูปแบบนี้เป็นแบบอย่างได้ค่ะ
เรื่องโดย : พิชชารัศมิ์ www.marumura.com
สามารถติดตามเรื่องราวแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจด้วยความรักในหนังสือ “Japan Success ธุรกิจสำเร็จได้ด้วยใจรัก” ตามแผงหนังสือชั้นนำ และ สามารถพูดคุยสื่อสารกับพิชชารัศมิ์ได้ที่ FB: Life Inspired by พิชชารัศมิ์
หากชอบบทความของเรา สามารถติดตาม Facebook FanPage ของเราได้